วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ปลาหมอเซวาลุ่ม


ปลาหมอเซวาลุ่มทอง เป็นปลาที่มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ รูปร่างกลมป้อม มีปลาหมอเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่มีรูปทรงแบบนี้ ลูกปลาขนาดเล็กๆจะมีสีเหลืองนวล อาจจะมีลวดลายจุดเหลือง ส้มประตามลำตัว ตะเกียบ และครีบก้นจะมีสีเหลืองอมส้มถึงแดง เมื่อปลาโตเต็มที่จุดเหลืองจะเข้มขึ้นเรื่อยๆจนถึงสีแดงลักษณะปลาหมอเซวาลุ่มทองที่มีจุดแดงบนเกล็ดนั้นเป็นลักษณะที่สวยงามมาก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วที่เราพบเห็นส่วนมากจะเป็นเซวาลุ่มแบบที่มีสีพื้นเป็นสีเหลืองเสียมากกว่าไม่มีจุดแดง ปลาชนิดนี้เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย กินอาหารสำเร็จรูปได้ สามารถเลี้ยงรวมกับปลาหมอจากอเมริกาใต้ อาทิ ปลาหมอเซวาลุ่มเขียว ปลาหมอช๊อกโกแลต

ถิ่นกำเนิดของปลาชนิดนี้อยู่ในลุ่มแม่น้ำอะเมซอนในทวีปอเมริกาใต้ในธรรมชาติสายพันธุ์ที่พบจะเป็นเซวาลุ่มเขียวว่ากันว่าสายพันธุ์ของเซวาลุ่มเขียวนั้นก็มีสายพันธุ์ย่อยๆลงไปอีก บางตัวจะออกเหลือบเขียวอย่างเด่นชัดในขณะที่บางตัวออกเพียงสีน้ำตาล
ปลาหมอเซวาลุ่ม เป็นปลาหมอสีประเภทวางไข่จากอเมริกาใต้อีกชนิดหนึ่ง ที่แพร่หลายเข้ามาในบ้านเราเป็นเวลานานแล้วจัดเป็นปลาหมอสีที่มีนิสัยสุภาพเรียบร้อยไม่เกเรมากมายเมื่อเทียบกับปลาหมอชนิดอื่นๆ

วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ปลาปอมปาดัวร์


ปลาปอมปาดัวร์

ปลาปอมปาดัวร์เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ ได้ถูกนำมาเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์จากประเทศต่างๆ จนในปัจจุบันมีปลาปอมปาดัวนับสิบๆสายพันธุ์ มีความสวยงามและสีสันแตกต่างกันออกไปและสวยกว่าพันธุ์ดั้งเดิมมาก สำหรับปลาปอมปาดัวพันธุ์ดั้งเดิมตามหลักสากลได้แบ่งออกเป็น

1. ปอมปาดัวร์ Symphysodon aequifasciata เป็นปลาปอมปาดัวร์ที่มีลักษณะเด่นคือ จะมีเส้นแถบสีดำจางๆพาดขวางบริเวณส่วนหัว ลำตัว และโคนหาง เป็นแนวตั้งรวมทั้งหมด 9 แถบด้วยกัน

2.ปอมปาดัวร์Symphysodon discus ปลาชนิดนี้จะมีเส้นแถบสีดำพาดขวางบริเวณลำตัวอยู่ 9 แถบเช่นเดียวกัน แต่จะมีลักษณะที่พิเศษกว่าชนิดแรก คือจะมีแถบสีดำอยู่ 3 แถบเป็นแถบขนาดใหญ่และสีดำเข้มอยู่ที่บริเวณหัว กลางลำตัวและโคนหาง

นอกจากชนิดพันธุ์ปลาตามหลักสากลดังที่ได้กล่าวมานี้แล้ว ปัจจุบันผู้เพาะพันธุ์ต่างก็พยายามศึกษา และมีการนำสายพันธุ์ปลาปอมปาดัวร์ชนิดต่างๆ มาทำการผสมข้ามพันธุ์กัน เพื่อให้ได้ลูกปลาที่มีลวดลายแปลกๆใหม่ๆ ชนิดแยกทางไม่ค่อยออกว่าบรรพบุรุษจากปลาปอมชนิดใดแน่ โดยลูกปลาพันธุ์ใหม่ส่วนใหญ่จะมีลวดลายสีสันสวยงามมาก และมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ดังเช่น ปอมปาดัวร์ 7 สี ต้นบรรพบุรุษของปลาพันธุ์นี้คือ Green discus และ Blue discus โดยแต่เดิมที่เพาะกันจะเป็นปลาลายใหญ่ที่มีลวดลายคมชัดทั้งตัวเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาในระยะหลังจึงหันมานิยมปลาลายกลางและลายเล็กแทน ทั้งนี้ก็มีสาเหตุเพราะว่าปลาลายกลางและลายเล็กเวลาที่นำไปเลี้ยงย้อมสี เปอร์เซ็นต์การเกิดลวดลายบนตัวปลาจะดีกว่า โดยเฉพาะปลาลายใหญ่ที่ลวดลายไม่คมชัดหรือลวดลายไม่เต็ม อีกทั้งมักจะประสบปัญหาลายแตกออกจนเลอะ ภาษนักเลี้ยงปลาเรียกว่า "เบรอ"นั่นเอง


วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ปลาการ์ตูนส้มขาว


ลำตัวมีสีส้มเข้ม มีแถบสีขาว 3 แถบ พาดบริเวณส่วนหัว ลำตัวและบริเวณหาง ขอบของแถบสีขาวเป็นสีดำ ขอบนอกของครีบเป็นสีขาวและขอบในเป็นสีดำ อาศัยในที่ลึก ตั้งแต่ 1-15 เมตร ขนาดตัวโตที่สุดประมาณ 10 เซนติเมตร อาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลชนิด Heteractis magnifica และ Stichodactyla gigantea เป็นต้น ในดอกไม้ทะเลแต่ละกออาจพบปลาการ์ตูนชนิดนี้อยู่ด้วยกัน 6-8 ตัว ปลาการ์ตูนส้มขาวพบได้บ่อยที่สุดในทะเลอันดามัน อ่าวไทยพบได้ที่เกาะโลซิน จังหวัดนราธิวาส อาศัยอยู่เป็นครอบครัวใหญ่